มันเทศ พันธุ์สุโขทัย 2

มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 หรือ มันเทศสายพันธุ์ สท.18 เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ พจ.189-257 (เนื้อสีม่วง) กับสายพันธุ์ FM37-LINIDOK-3 (เนื้อสีเหลือง)

พันธุ์มันเทศ สุโขทัย 2

ประวัติ
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 หรือ มันเทศสายพันธุ์ สท.18 เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ พจ.189-257 (เนื้อสีม่วง) กับสายพันธุ์ FM37-LINIDOK-3 (เนื้อสีเหลือง) ได้ปรับปรุงพันธุ์โดยนำพันธุ์มันเทศที่มีลักษณะดีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมาผสมข้ามพันธุ์ นำเมล็ดลูกผสมมาเพาะเป็นต้นและทำการขยายจำนวน นำยอดไป ปลูกและคัดเลือกสายพันธุ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด คัดเลือกและเปรียบเทียบสายพันธุ์ในปี พ.ศ. 2554–2555 ในปี พ.ศ. 2557 ปลูกทดสอบที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน คัดเลือกได้สายพันธุ์ดีเด่น ในปี พ.ศ. 2558 นำสายพันธุ์ดีเด่นไปทดสอบในไร่เกษตรกรที่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยทดสอบกับพันธุ์ท้องถิ่นของเกษตรกร ประเมินคุณภาพในการบริโภค การยอมรับของผู้บริโภคและเกษตรกร และปี พ.ศ. 2562 ได้สายพันธุ์ดีนำเสนอรับรองพันธุ์กรมวิชาการเกษตร

ลักษณะประจำพันธุ์
เถามีลักษณะยาว 253 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น 0.98 เซนติเมตร ปล้องมีความยาว 10.3 เซนติเมตร สีของเถาที่เด่นชัดขึ้นก่อนเป็นสีม่วงและสีที่ปรากฏภายหลังเป็นสีเขียว ปริมาณขนอ่อนที่ยอดมีจำนวนมาก ใบมีรูปทรงแบบรูปหัวใจมีขนาดกว้าง 15.2 เซนติเมตร ยาว 15.3 เซนติเมตร เส้นใบมีสีม่วง ใบแก่มีเขียวและมีสีม่วงที่ขอบใบ (YG 137 A) และใบอ่อนมีสีม่วง (B 200 A) ก้านใบยาว 22.3 เซนติเมตร สีของก้านใบเขียวและมีสีม่วงใกล้ใบ หัวมีรูปรี (elliptic) มีขนาดกว้าง 6.9 เซนติเมตร ยาว 18 เซนติเมตร มีสีแดง (GR – PP 183 B) และสีของเนื้อเมื่อสุกเหลืองอมส้ม (YO 16 C) การออกดอกระดับน้อยขอบดอกสีม่วงอ่อนกลางดอกสีม่วงเข้ม ดอกมีขนาดกว้าง 3.3 เซนติเมตร ยาว 4.6 เซนติเมตร รูปร่างแบบรูปแตร และกลีบเลี้ยงมีรูปร่างแบบรูปไข่กลับ มีสีเขียวปนม่วง จำนวนเมล็ดต่อดอก 1-3 เมล็ด มีสีน้ำาตาล ผลผลิต 2,900 กิโลกรัมต่อไร่ มีอายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน มีคุณสมบัติทางเคมีประกอบด้วย แอนโทไซยานิน (anthocyanin) 1.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณเถ้า (ash) 0.75 กรัมต่อ 100 กรัม เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) 481 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม แคลอรี (calories) 130 กิโลแคลอรี ต่อ 100 กรัม แคลอรีจากไขมัน (calories from fat) 1.35 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) 31.1 กรัมต่อ 100 กรัม ไขมัน (fat) 0.15 กรัมต่อ 100 กรัม ความชื้น (moisture) 66.82 กรัมต่อ 100 กรัม โปรตีน (protein ; % N x 6.25 ) 1.20 กรัมต่อ 100 กรัม น้ำตาล (sugar) 8.65 กรัมต่อ 100 กรัม เส้นใยอาหาร (dietary fiber) 2.65 กรัมต่อ 100 กรัม แคลเซียม (calcium; Ca) 19.18 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เหล็ก (iron; Fe) 0.51 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และโซเดียม (sodium; Na) 6.99 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,900 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ท้องถิ่น ร้อยละ 34 (จากการทดสอบพันธุ์ 3 สถานที่ ปี 2557)
2. สีเนื้อเมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม เหนียวนุ่ม ละเอียด รสชาติหวาน ผู้บริโภคและเกษตรกรยอมรับสูงถึง 8 คะแนน จาก 10 คะแนน
3. มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานสูง โดยมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 31 กรัม แคลอรี 131 กิโลแคลอรีต่อมันเทศ 100 กรัม และสารเบต้า-แคโรทีน 481 ไมโครกรัมต่อมันเทศ 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์ท้องถิ่นที่มีสารเบต้า-แคโรทีน น้อยกว่า 10 ไมโครกรัมต่อมันเทศ 100 กรัม

พื้นที่แนะนำ
มันเทศสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้ สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนทราย ทั้งในสภาพบนที่ราบสูงและที่ราบ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคอื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกัน

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ และการปลูกซ้ำที่เดิม
2. การปลูกมันเทศในช่วงฤดูแล้งไม่ควรให้ดินในแปลงปลูกมีลักษณะแตกระแหง มีช่องว่างของดินเพราะทำให้แมลงศัตรูมันเทศเข้าทำลาย ดังนั้นควรให้น้ำมันเทศในฤดูแล้ง และยังสามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้อีกด้วย

วันที่รับรอง : 1 มีนาคม 2562 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!