พันธุ์มันเทศ พิจิตร 2
ประวัติ
มันเทศพันธุ์พิจิตร 2 หรือ มันเทศสายพันธุ์ พจ. 54-0104-1 โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มันเทศสำหรับอุตสาหกรรมแป้ง ตั้งแต่ ปี 2554-2560 ได้มันเทศสายต้น พจ.54-0104-1 (ลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่ ไต้หวัน No.1 กับพันธุ์พ่อ PROC OPS-101-R89-3) โดยมีขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ดังนี้ ปี 2554 ทำการผสมพันธุ์มันเทศ ใช้พันธุ์มันเทศเนื้อสีขาวสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ 9 พันธุ์ ผสมแบบพบกันหมด (diallel cross) จำนวน 72 คู่ผสม ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปี 2555 ทำการคัดเลือกพันธุ์แบบ clonal selection คัดเลือกสายต้นที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ หัวมีขนาดใหญ่ เนื้อสีขาว ผิวเรียบ และน้ำหนักแห้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรคัดเลือกได้ 11 สายต้น ปี 2556 ทำการเปรียบเทียบพันธุ์ มันเทศคัดเลือก 11 สายต้น มีพันธุ์ PROC No.65-16 และไต้หวัน No.1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปี 2557-2558 ทดสอบพันธุมีสายต้นเข้าทดสอบ 7 สายต้น ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ปี 2559-2560 ทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร ปี 2562 เสนอรับรองพันธุ์และคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร มีมติเห็นชอบให้ตั้งชื่อเป็น มันเทศพันธุ์พิจิตร 2
ลักษณะประจำพันธุ์
เถา (vine) ความยาว 194 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางเถา 0.93 เซนติเมตร ความยาวของปล้อง 6.25 เซนติเมตร สีของเถาที่เด่นชัดขึ้นก่อนและสีของเถาหรือสีที่ปรากฏภายหลังคือสีเขียว ขนอ่อนที่ยอดมีปริมาณเล็กน้อย ใบ (leave) ทรงใบรูปหยักเป็นพู (lobed) พูใบชนิดหยักลึกปานกลาง จำนวนพูใบ 5 หยัก ใบมีขนาด กว้าง 15.1 เซนติเมตร ยาว 13.1 เซนติเมตร เส้นใบส่วนใหญ่สีม่วง ใบแก่มีสีเขียว (green) ใบอ่อนมีสีเขียวปนสีม่วงที่เส้นใบและผิวด้านหลังใบ (green with purple veins on upper surface) ก้านใบยาว 24.7 เซนติเมตร มีสีเขียวและมีสีม่วงใกล้ใบ (green with purple near leaf) หัว (storage root) มีลักษณะรูปทรงกระบอกยาว (long oblong) ผิวมีสีแดง Red-purple 63C สีเนื้อมีสีขาว White NN155C ขนาดหัว กว้าง 7.7 เซนติเมตร ยาว 18.6 เซนติเมตร การเรียงตัวของหัว (storage root arrangement) มีลักษณะหัวเป็นกลุ่มอยู่ห่างกัน (open cluster) ดอก (flower) นิสัยการออกดอกออกดอกน้อย สีของดอกขอบดอกสีม่วงอ่อนกลางดอกสีม่วงเข้ม ดอกมีขนาด กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 4.0 เซนติเมตร ดอกมีรูปร่างรูปแตรและรูปร่างของกลีบเลี้ยงรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวปนม่วง จำนวนเมล็ด 1-4 เมล็ดต่อฝักสีของเมล็ดสีน้ำตาล ผลผลิตมีน้ำหนัก 3,617 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตแป้ง 846 กิโลกรัมต่อไร่ ปริมาณแป้งต่อน้ำหนักสดร้อยละ 23.4 น้ำหนักแห้งร้อยละ 34.9 อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน คุณสมบัติทางเคมีประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 84.5 โปรตีนร้อยละ 6.42 เส้นใยร้อยละ 3.69 ไขมันร้อยละ 2.86 เถ้าร้อยละ 0.04
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 3,617 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์เกษตรกรร้อยละ 35
2. ปริมาณแป้งร้อยละ 23.4 คิดเป็นผลผลิตแป้ง 846 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์เกษตรกรร้อยละ 36
3. มีปริมาณขนาดหัวที่โรงงานต้องการร้อยละ 86.2 ของน้ำหนักรวม มากกว่าพันธุ์เกษตรกรร้อยละ 6.20
พื้นที่แนะนำ
พื้นที่ปลูกทั่วไป ลักษณะดินร่วนทราย ทั้งในสภาพบนที่ราบสูงและที่ราบโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสุโขทัย
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
เมื่อใกล้อายุเก็บเกี่ยวหัวจะโผล่เหนือผิวดิน ซึ่งเสี่ยงต่อการทำลายของด้วงงวงมันเทศ ดังนั้นควรมีการพูนโคนอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่ออายุหลังปลูก 30 วัน
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์มันเทศพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและปริมาณแป้งสูง เหมาะสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้ง ทั้งในรูปแป้งฟลาว (flour) และแป้งสตาร์ช (starch) เพื่อทดแทนแป้งจากพืชชนิดอื่น เช่น การใช้แป้งฟลาวจากมันเทศ แทนแป้งสาลีในการทำาเบเกอรี่ ได้แก่ เค้ก โดนัท และแพนเค้ก หรือการใช้แป้งสตาร์ชมันเทศทำวุ้นเส้น โดยผสมกับแป้งสตาร์ชถั่วเขียว จะได้วุ้นเส้นที่มีคุณภาพเหมือน การใช้แป้งสตาร์ชถั่วเขียว 100 เปอร์เซ็นต์
วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0