อ้อย พันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1

อ้อย พันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 หรือ อ้อยโคลน NSUT10-266 เป็นอ้อยโรงงานที่มีความหวาน และผลผลิตน้ำตาลสูง ได้จากการผสมพันธุ์ในปี 2553 ระหว่างพันธุ์แม่ Q76 และพันธุ์พ่อ CP63-588

พันธุ์อ้อย กวก. นครสวรรค์ 1

ประวัติ
อ้อย พันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 หรือ อ้อยโคลน NSUT10-266 เป็นอ้อยโรงงานที่มีความหวาน และผลผลิตน้ำตาลสูง ได้จากการผสมพันธุ์ในปี 2553 ระหว่างพันธุ์แม่ Q76 และพันธุ์พ่อ CP63-588 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี แล้วนำมาคัดเลือกครั้งที่ 1 และ 2 ในปี 2554-2556 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์นำเข้าประเมินผลผลิตและการไว้ตอ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตน้ำตาลสูง และเหมาะกับสภาพการปลูกในดินร่วน ร่วนเหนียว และดินเหนียว เขตน้ำฝน ในขั้นตอนการเปรียบเทียบเบื้องต้นระหว่างปี 2556-2558 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ การเปรียบเทียบมาตรฐาน ในปี 2557-2559 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย การเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ระหว่างปี 2559-2563 ที่ไร่เกษตรกร จังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี สุโขทัย กาญจนบุรี นครราชสีมา และอุทัยธานี ในอ้อยปลูก อ้อยตอ 1 และอ้อยตอ 2 รวมจำนวน 21 แปลง ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ ได้แก่ ปฏิกิริยาต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและแส้ดำ ในปี 2557-2558 ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และการใช้น้ำ ปี 2562-2563 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ รวมทั้งประเมินการยอมรับพันธุ์ของเกษตรกร ในปี 2563-2564

ลักษณะประจำพันธุ์
ทรงกอเป็นแบบตั้งตรง การติดของกาบใบกับลำต้นมีลักษณะหลวมปานกลาง ยอดอ้อยมีสีเขียว ปล้องมีลักษณะทรงกระบอก การเรียงตัวของปล้องเป็นแบบซิกแซก และมีไขที่ปล้องปานกลาง ปล้องเมื่อต้องแสงมีสีม่วงเหลือบเขียว และเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเหลืองเหลือบเขียว มีร่องเหนือตา ไม่มีรอยแตกของปล้อง วงเจริญเมื่อต้องแสงมีสีเขียวมีลักษณะเรียบเท่ากับปล้องจุดกำเนิดรากมีการเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ และเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเหลือง วงรากมีขนาดกว้างปานกลาง มีวงไข ตามีลักษณะนูนกลม และไม่มีขน ยอดตามีตำแหน่งเท่ากับวงเจริญ ใบมีลักษณะชัน – ตรงและกว้างมาก ใบขนมีน้อย ลิ้นใบตรงกลางโป่งออกปลายเรียวแหลมทั้ง 2 ข้าง หูใบขอบด้านนอกเป็นสามเหลี่ยมขอบตรงมุมฉาก และขอบด้านในเป็นใบหอกสั้น คอใบเป็นแบบสามเหลี่ยมชายธงและมีสีเขียวอมน้ำตาล กาบใบไม่มีขน

ลักษณะเด่น
1. ความหวานสูง 15.77 ซีซีเอส สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และพันธุ์ขอนแก่น 3 ร้อยละ 10 และ 7 ตามลำดับ
2. ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.82 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ร้อยละ 18 และเท่ากับพันธุ์ขอนแก่น 3
3. ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 18.02 ตันต่อไร่ ไม่แตกต่างทางสถิติจากพันธุ์ LK92-11 และพันธุ์ขอนแก่น 3
4. ต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงปานกลาง

พื้นที่แนะนำ
เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินร่วน ร่วนเหนียว และดินเหนียว เขตน้ำฝน ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครราชสีมา เป็นต้น

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแส้ดำ และควรมีการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

วันที่รับรอง : 12 กรกฎาคม 2565 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

3 / 0

error: Content is protected !!