มะขามเปรี้ยว พันธุ์ศรีสะเกษ 1

มะขามเปรี้ยว พันธุ์ศรีสะเกษ 1 (Sour tamarind Si Sa Ket 1) หรือ มะขามเปรี้ยวสายพันธุ์ ศก.048 เกิดจากการสำรวจรวบรวมมะขามเปรี้ยวที่ชนะการประกวดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2535

พันธุ์มะขามเปรี้ยว ศรีสะเกษ 1

ประวัติ
มะขามเปรี้ยว พันธุ์ศรีสะเกษ 1 (Sour tamarind Si Sa Ket 1) หรือ มะขามเปรี้ยวสายพันธุ์ ศก.048 เกิดจากการสำรวจรวบรวมมะขามเปรี้ยวที่ชนะการประกวดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2535 สามารถรวบรวมมะขามเปรี้ยวได้จำนวน 26 สายพันธุ์ (ศก.031 ถึง ศก.056) นำต้นพันธุ์กิ่งทาบมาปลูกรวบรวมไว้ภายในศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สายพันธุ์ละ 5 ต้น ใช้ระยะปลูก 8×8 เมตร ทำการศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสายพันธุ์มะขามเปรี้ยว หลังจากนั้นในปี 2536-2544 ได้ทำการคัดเลือกพันธุ์มะขามเปรี้ยวที่ปลูกในแปลงรวบรวมพันธุ์มะขามเปรี้ยวดังกล่าว โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ ผลผลิตสูง ฝักใหญ่ ยาวไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และปริมาณเนื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 สามารถคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรดีได้จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ ศก.045 และศก.048 จากนั้นในปี 2554-2561 ได้ทำการทดสอบพันธุ์มะขามเปรี้ยวเพื่อการแปรรูปในท้องถิ่น โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 กรรมวิธี 4 ซ้ำ โดยกรรมวิธีคือ สายพันธุ์ศก.045 และศก.048 ปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรคือ พันธุ์ศรีสะเกษ และมะขามเปรี้ยวพันธุ์ท้องถิ่น สามารถคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 1 สายพันธุ์ คือ ศก.048

ลักษณะประจำพันธุ์
มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1 เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกต้นขรุขระและหนา ทรงต้นโปร่ง เป็นพุ่ม ทรงกลม ความสูงเมื่ออายุ 7 ปี 3.8 เมตร ใบเป็นประกอบ มีขนาดกว้าง 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาว 1-1.7 เซนติเมตร ดอกต่อช่อดอกมีลักษณะแบบราซีม (racems) ดอกมีสีเหลืองริ้วแดง ความยาวช่อดอก 6.5-11 เซนติเมตร ความยาวกลีบดอก 1.3-1.5 เซนติเมตร ความยาวกลีบเลี้ยง 1.2-1.5 เซนติเมตร ความยาวก้านดอก 0.7-1.0 เซนติเมตร ฝักแก่เปลือกมีสีน้ำตาล (Greyed-Orange 164B) ลักษณะฝักเป็นแบบโค้งเล็กน้อย (ฝักดาบ) ฝักมีขนาดกว้าง 2.74 เซนติเมตร ยาว 15.78 เซนติเมตร หนา 1.99 เซนติเมตร เนื้อสีน้ำตาลเข้ม (Greyed-Orange 172C) เมล็ดมีลักษณะแบนเป็นมันสีน้ำตาลเข้ม อายุเก็บเกี่ยว (นับจากแทงช่อดอกถึงเก็บเกี่ยว) 230 วัน ฝักมีขนาดกว้าง 2.74 เซนติเมตร ยาว 15.78 เซนติเมตร หนา 1.99 เซนติเมตร จำนวนฝัก 48.5 ฝักต่อกิโลกรัม ปริมาณเนื้อร้อยละ 47.9 ปริมาณกรดทาร์ทาริคร้อยละ 13

ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูง 4.4 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี สูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ ร้อยละ 42 และสูงกว่าพันธุ์ท้องถิ่นร้อยละ 175 หรือ1.7 เท่า

2. ปริมาณเนื้อสูงร้อยละ 47.9 ซึ่งมากกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ มีปริมาณเนื้อร้อยละ 43.2 หรือมากกว่าร้อยละ 10.9 และมากกว่าพันธุ์ท้องถิ่น มีปริมาณเนื้อร้อยละ 41.8 หรือมากกว่าร้อยละ 14.6

3. ฝักมีขนาดใหญ่ ความยาว 15.78 เซนติเมตร มากกว่าพันธุ์ศรีสะเกษร้อยละ 3.5 และมากกว่าพันธุ์ท้องถิ่นร้อยละ 30ความหนาฝัก 1.99 เซนติเมตร มากกว่าพันธุ์ศรีสะเกษร้อยละ 15.6 และมากกว่าพันธุ์ท้องถิ่นร้อยละ 18.4

4. จำนวนฝักต่อกิโลกรัมเท่ากับ 48.5 ฝัก น้อยกว่าพันธุ์ศรีสะเกษที่มีจำนวนฝักเท่ากับ 50 ฝักต่อกิโลกรัม และพันธุ์ท้องถิ่นที่มีจำนวนฝักเท่ากับ 63.5 ฝักต่อกิโลกรัม

พื้นที่แนะนำ
สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ปลูกมะขามเปรี้ยวทั่วไป เช่น จังหวัดอุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ยโสธร และศรีสะเกษ

คุณค่าและการใช้ประโยชน์
มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ฝักอ่อน สามารถรับประทานสดหรือปรุงรสชาติในอาหารส่วนฝักแก่ที่เริ่มเข้าไคลนำมาดองหรือแช่อิ่มฝักมีลักษณะค่อนข้างกลม ยาว ใหญ่ เป็นลักษณะฝักดาบซึ่งสะดวกในการแกะเปลือกและให้รูปลักษณ์และคุณสมบัติที่ดีเหมาะแก่การแช่อิ่ม ส่วนมะขามที่แก่จัดเมื่อแกะเปลือกออก เรียกว่า มะขามเปียกซึ่งมีเปอร์เซ็นต์เนื้อสูงกว่าพันธุ์ทั่วไป มีปริมาณกรดทาร์ทาริคร้อยละ 13 นิยมมาใส่เป็นเครื่องปรุงในอาหารไทยหรือเป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น น้ำมะขาม ลูกอมมะขาม มะขามกวน มะขามแก้ว เป็นต้น

วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!