มะละกอ พันธุ์ศรีสะเกษ 1
ประวัติ
มะละกอ พันธุ์ศรีสะเกษ 1 (Papaya Si Sa Ket 1) หรือ มะละกอสายพันธุ์ VR05 โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้มีการรวบรวมสายพันธุ์มะละกอจากแหล่งปลูกต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2530 จำนวน 33 สายพันธุ์ ปลูกคัดเลือกและผสมตัวเองจนกระทั่งเป็นสายพันธุ์แท้
หลังจากนั้นได้ผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แท้เหล่านี้สร้างลูกผสม (F1) ในระหว่างปี 2543-2548 จำนวน 11 คู่ผสม หลังจากนั้นได้เพาะเมล็ดลูกผสมรุ่นที่ 1 และนำไปปลูกคัดเลือกลูกผสม คลุมดอกเพื่อให้ผสมตัวเองและเก็บเมล็ดพันธุ์รุ่น F2 (สุวิทย์และอุดม, 2547; อุดม, 2549) ปี 2550-2555 ปลูกคัดเลือกมะละกอรุ่นที่ 2 คัดเลือกต้นที่มีลักษณะดี จำนวน 20 สายพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์แยกต้นและนำมาปลูกแบบต้นต่อแถว จนกระทั่งถึงรุ่นที่ 5 (F5) สามารถคัดเลือกได้มะละกอสายพันธุ์ดี จำนวน 8 สายพันธุ์ จึงได้นำมะละกอสายพันธุ์ดีเหล่านี้ไปปลูกเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์ ในปี 2557-2558 เพื่อทดสอบศักยภาพของสายพันธุ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การเจริญเติบโตผลผลิตและคุณภาพของผลผลิต โดยปลูกทดสอบใน 3 แหล่งปลูก ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี พบว่า มะละกอสายพันธุ์ VR05 มีการเจริญเติบโตดี และผลผลิตสูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กิโลกรัมต่อต้น ในขณะที่พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 27.5 กิโลกรัมต่อต้น โดยสายพันธุ์ VR05 มีลักษณะ ดังนี้ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อสีส้มแดง ความหนาเนื้อ 3.34 เซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 10.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมะละกอสายพันธุ์ VR05 นี้เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมสำหรับบริโภคผลสุก
ลักษณะประจำพันธุ์
การเจริญเติบโตแบบต้นเดี่ยว ความสูงต้นเมื่อผลแรกสุก 135.5 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้าง 152 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนาดยาว 73 เซนติเมตร กว้าง 75 เซนติเมตร จำนวนกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาวครีม รูปทรงผลรูปแท่ง (club) สีผิวผลเมื่อสุกส้มเหลือง (O 25A) สีเนื้อสุกสีส้มแดง (OR 31A) อายุดอกแรกบานหลังปลูกเฉลี่ย 122 วัน อายุเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 153 วัน น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม ผลมีขนาดยาวเฉลี่ย 32.9 เซนติเมตร กว้างเฉลี่ย 11.4 เซนติเมตร ความหนาเนื้อเฉลี่ย 3.34 เซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 10.4 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผล 17.3 ผลต่อต้นเฉลี่ย ผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กิโลกรัมต่อต้น
ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตเฉลี่ยสูง ให้ผลผลิต 30.8 กิโลกรัมต่อต้น สูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบร้อยละ 12
2. ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อหนา 3.34 เซนติเมตร เหมาะสำหรับบริโภคสดและแปรรูป
พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ดีในพื้นที่ทั่วไปที่มีการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะดินร่วนปนทราย
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ไม่เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ ดินระบายน้ำไม่ดี
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
มะละกอ พันธุ์ศรีสะเกษ 1 เป็นมะละกอที่มีรสชาติหวาน เหมาะสำหรับให้เกษตรกรปลูกสำหรับบริโภคสุก และส่งตลาดในประเทศ เนื้อหนาเฉลี่ย 3.34 เซนติเมตร เหมาะจะใช้ปลูกสำหรับแปรรูปในโรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง เนื่องจากผลผลิตสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้ได้เอง ทำให้ลดต้นทุนการผลิต เป็นการเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกร
วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
2 / 1