ปัญจขันธ์ พันธุ์เชียงราย 1
ประวัติ
ปัญจขันธ์ พันธุ์เชียงราย 1 (Jiaogulan Chiang Rai 1) หรือ ปัญจขันธ์ลูกผสมสายพันธุ์เชียงราย 2-20 เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์สิบสองปันนา (ต้นแม่) กับ พันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง (ต้นพ่อ) โดยพันธุ์สิบสองปันนาเป็นพันธุ์นำเข้าจากประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2548 ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายได้ทำการประเมินพันธุ์สิบสองปันนากับพันธุ์พื้นเมือง ในปี 2554-2555 พบว่า พันธุ์สิบสองปันนามีผลผลิตสูง มีการเจริญเติบโตเร็วแต่มีสารซาโปนินอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพงเป็นพันธุ์ที่พบบริเวณอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย ผลผลิตต่ำมาก แต่มีสารซาโปนินสูง ปี 2556 จึงได้ดำเนินการผสมพันธุ์ และคัดเลือกลูกผสมในรุ่นที่ 1 (F1) ถึง รุ่นที่ 4 (F4) ในปี พ.ศ. 2559-2562 เก็บเมล็ดในแต่ละรุ่นนำไปทดสอบผลผลิตและสารซาโปนินที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายเป็นเวลา 4 ปี จึงได้ปัญจขันธ์ลูกผสมสายพันธุ์เชียงราย 2-20 ในปี พ.ศ. 2562
ลักษณะประจำพันธุ์
รากมีสีขาวอยู่ใต้ดินและเหนือดินบริเวณข้อของลำต้น ลำต้นเถาเลื้อยยาว 7.56 เมตร กว้าง 0.26 เซนติเมตร ข้อมีความยาว 8.68 เซนติเมตร ใบมีใบย่อย 5 ใบ รูปรีถึงรูปไข่ กว้าง 4.52 ยาว 8.93 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม G139A ขนที่ใบมีสีขาว สั้นหนา ขอบใบมีรอยหยัก 25 หยัก จำนวนกิ่งมีการแตกกิ่ง 83 กิ่ง ช่อดอกแยกเพศดอกเพศผู้มีกลีบดอก 5 แฉก สีขาว ดอกเพศเมียมีรังไข่สีเขียว ผลและเมล็ดผลกลม สีเขียว มีขน เมื่อแก่เป็นสีดำ ภายในมี 3 เมล็ด รูปหัวใจ น้ำหนักสด 1,897.5 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักแห้ง 210.5 กิโลกรัมต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยวหลังปลูก 105 วัน คุณสมบัติทางเคมีมีสารซาโปนินในต้น 11.47 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม
ลักษณะเด่น
1. สารซาโปนินทั้งต้นเฉลี่ย 11.47 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์สิบสองปันนาร้อยละ 52
2. ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 210.5 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สิบสองปันนาร้อยละ 31
3. อายุเก็บเกี่ยว 105 วัน สั้นกว่าพันธุ์สิบสองปันนาที่มีอายุเก็บเกี่ยว 116 วัน
พื้นที่แนะนำ
พื้นที่ดอนและที่ลุ่ม มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ควรปลูกในพื้นที่ที่มีร่มเงา หรือปลูกภายใต้โรงเรือนที่มีตาข่ายพรางแสงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
ผลิตภัณฑ์แปรรูปเครื่องดื่มชาสมุนไพรสำหรับลดน้ำตาลในเลือด
วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0