พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม นครสวรรค์ 4
ประวัติ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 4 Hybrid Maize Nakhon Sawan 4 หรือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม NSX 042022 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วัน เมล็ดเป็นชนิดหัวแข็ง สีส้มเหลืองเกิดจากการผสมข้ามระหว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นพันธุ์แม่ และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 452006 เป็นพันธุ์พ่อ
การพัฒนาข้าวโพดสายพันธุ์แท้แม่และพ่อ ดำเนินการคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ระหว่างปี 2543-2546 โดยสายพันธุ์แม่ ตากฟ้า 1 (รหัสพันธุ์เดิม Nei 452008) ได้จากการผสมตัวเองของประชากร ข้าวโพด Pioneer 3003 F2 จำนวน 6 ชั่ว ในสภาพการปลูกเชื้อโรคราน้ำค้าง และประเมินสมรรถนะการผสมของสายพันธุ์ที่คัดเลือกกับตัวทดสอบ Nei 9202 (T) ส่วนสายพันธุ์แท้พ่อ Nei 452006 ได้จากการผสมตัวเองจำนวน 3 ชั่ว ของประชากรข้าวโพด Big 939F2 ในสภาพการก่อให้เกิดโรคราน้ำค้าง และประเมินสมรรถนะการผสมของสายพันธุ์ที่คัดเลือกกับตัวทดสอบสายพันธุ์แท้นครสวรรค์ 1 และสายพันธุ์แท้นครสวรรค์ 2 คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสมรรถนะการผสมดี มีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้างและทนทานแล้ง นำมาผสมตัวเองอีก 4 ชั่ว จนได้สายพันธุ์แท้ Nei 452006
การพัฒนาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 ดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 โดยผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พันธุ์แม่ ตากฟ้า 1 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พันธุ์พ่อ Nei 452006 ประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ เปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน เปรียบเทียบในท้องถิ่น และเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ตามลำดับ โดยใช้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ และศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ ระหว่างปี 2547–2560
ลักษณะประจำพันธุ์
รากค้ำมีสีเขียว ลำต้นมีสีเขียว ลักษณะของลำต้นเป็นแบบตั้งตรง รูปร่างใบแรกมนกลม สีกาบใบที่ตำแหน่งฝักบนสุดเป็นสีเขียว มุมใบแรกเหนือฝักกว้างปานกลาง การโค้งของใบแรกเหนือฝักค่อนข้างตรง ใบทั้งหมดมีจำนวน 21 ใบ ใบทั้งหมดเหนือฝักมีจำนวน 6 ใบ กาบดอกย่อยมีสีม่วงขีดเขียว อับเรณู (อับสด) มีสีม่วงฐานดอกย่อยมีสีเขียว ช่อดอกตัวผู้มีลักษณะโค้งปานกลาง ไหมมีสีม่วง ฝักมีรูปทรงกึ่งทรงกระบอก-ทรงกรวย ซังมีสีขาว เมล็ดเป็นแบบชนิดหัวแข็ง มีสีส้มเหลือง ผลผลิตเมล็ด 1,160 กิโลกรัมต่อไร่ อายุออกไหม 50 เปอร์เซ็นต์ 53 วัน อายุออกดอกตัวผู้ 52 เปอร์เซ็นต์ 52 วัน อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ความสูงของฝัก 108 เซนติเมตร ความสูงของต้น 187 เซนติเมตร ไม่มีการหักล้ม จำนวนฝัก 1 ฝักต่อ 1 ต้น จำนวนแถวเมล็ด 14 แถวต่อฝัก จำนวนเมล็ด 36 เมล็ดต่อแถว เปอร์เซ็นการเกิดโรคราน้ำค้างในสภาพการปลูกเชื้อ 18.02 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์ การกะเทาะ 83.15 เปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบคุณสมบัติทางเคมีประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 70.19 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 10.26 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 9.05 เปอร์เซ็นต์ กาก 3.90 เปอร์เซ็นต์ ความชื้น 3.90 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 2.70 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตสูงเฉลี่ย 1,092 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่านครสวรรค์ 2 ร้อยละ 7 และผลผลิตใกล้เคียงกับพันธุ์นครสวรรค์ 3 และพันธุ์ลูกผสมการค้า
2. มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 695 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่านครสวรรค์ 3 ร้อยละ 12 เมื่อกระทบแล้งช่วงออกดอกนานหนึ่งเดือน โดยผลผลิตลดลงร้อยละ 49 ในขณะที่พันธุ์นครสวรรค์ 3 ผลผลิตลดลงร้อยละ 54 จากสภาพให้น้ำสม่ำเสมอ
3. เก็บเกี่ยวด้วยมือง่าย
4. มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้แผลใหญ่ และโรคราสนิม ในระดับปานกลาง
พื้นที่แนะนำ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ดอน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มีการระบายน้ำดี สภาพดินไม่เป็นกรด หรือด่างมากเกินไป ในพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 เป็นพันธุ์ลูกผสมไม่ควรเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ปลูกในรุ่นต่อไป
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เป็นพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมอายุยาว มีความทนทานแล้ง สำหรับพื้นที่ปลูกต้นฤดูฝน–ปลายฝน ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตในสภาพการกระจายตัวของฝนไม่แน่นอนได้ สามารถยกระดับผลผลิตต่อพื้นที่ สายพันธุ์แท้แม่และพ่อ สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใช้เองช่วยลดต้นทุนการผลิต ภาคเอกชนและกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ทำการผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเมล็ดพันธุ์รายย่อยที่ยังขาดงานด้านวิจัยและพัฒนา ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมีความเข้มแข็งและยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ
วันที่รับรอง : 6 มิถุนายน 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0