ฝ้าย พันธุ์ตากฟ้า 7

ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 หรือ ฝ้ายสายพันธุ์ P12Nan37M5 พัฒนาพันธุ์โดย ดร.จินดา จันทร์อ่อน ตั้งแต่ปี 2537-2543 ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ฝ้าย พันธุ์ตากฟ้า 7

ประวัติ
ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 หรือ ฝ้ายสายพันธุ์ P12Nan37M5 พัฒนาพันธุ์โดย ดร.จินดา จันทร์อ่อน ตั้งแต่ปี 2537-2543 ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการนำสายพันธุ์ฝ้าย AG18 (ศรีสำโรง 60) ที่ใช้เป็นพันธุ์แม่ไปผสมข้ามพันธุ์กับสายพันธุ์ Nan15 และใช้เป็นพันธุ์พ่อ แล้วนำลูกผสม F1 ไปฉายรังสีแกมมา 200 เกรย์ (Gy) จากนั้นทำการคัดเลือก M1-M5 แบบ Natural selection จนได้พันธุ์ตากฟ้า 7 ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อเพลี้ยจักจั่น และต้านทานต่อโรคใบหงิกในสภาพการปลูกแบบปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้ายตลอดจนมีคุณภาพเส้นใยยาวปานกลาง

ลักษณะประจำพันธุ์
ต้นเป็นรูปทรงกรวย (conical) ลำต้นมีขนมาก (strong) กลีบดอกและอับละอองเกสรมีสีครีม (cream) โคนกลีบดอกด้านในไม่มีสี (absent) ริ้วประดับดอกมีขนาดปานกลาง (medium) บริเวณริ้วประดับมีต่อมสีน้อย (few) ใบมีรูปร่างเป็นแบบรูปนิ้วมือลึกปานกลาง (palmate to digitate) บริเวณที่หลังใบมีขนจำนวนมาก (strong) สมอมีลักษณะรูปไข่ (ovate) ต่อมสีหรือสารพิษก๊อสซิปอลที่สมอมีน้อย (few) ปุยหรือเส้นใยฝ้ายมีสีขาว (white)

ผลผลิตเฉลี่ย 196 กิโลกรัมต่อไร่ มีอายุถึงวันออกดอก 55 วัน และอายุถึงวันเก็บเกี่ยว 120-189 วัน ต้นมีความสูง 1.52 เมตร ข้อแรกที่ติดกิ่งผล 6 จำนวนกิ่งแบ่งเป็น กิ่งกระโดง 3 กิ่งต่อต้น และกิ่งผล 11 กิ่งต่อต้น สมอมีจำนวน 25 สมอต่อต้นปุยฝ้ายรวมทั้งเมล็ดมีน้ำหนัก 4.91 กรัมต่อสมอ สมอ 1 สมอมีเมล็ด 29 เมล็ด เมล็ด 100 เมล็ด มีน้ำหนัก 9.7 กรัม ปฏิกิริยาต่อโรคใบหงิกของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 ในสภาพเรือนทดลองเป็นแบบต้านทาน

คุณภาพของเส้นใย มีเปอร์เซ็นต์หีบ 36.4 เปอร์เซ็นต์ เส้นใยสีขาว ยาว 1.02 นิ้ว ความเหนียวของกลุ่มเส้นใย 16.6 กรัมต่อเท็กซ์ ความละเอียดอ่อนของเส้นใย 4.4 และความสม่ำเสมอของเส้นใย 58

ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตฝ้ายปุยทั้งเมล็ด เฉลี่ย 196 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ตากฟ้า 3 ร้อยละ 68
2. ทนทานต่อเพลี้ยจักจั่นฝ้าย
3. ต้านทานต่อโรคใบหงิกในสภาพการปลูกเชื้อได้ดี ในระดับเดียวกับพันธุ์ตากฟ้า 3
4. สมอมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ตากฟ้า 3 โดยมีน้ำหนักปุย 4.91 กรัมต่อสมอ
5. เปอร์เซ็นต์หีบ ความยาว และความละเอียดอ่อนของเส้นใย ดีกว่าพันธุ์ตากฟ้า 3 โดยฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 มีเปอร์เซ็นต์หีบ 36.4 เปอร์เซ็นต์ มีความยาวเส้นใย 1.02 นิ้ว ซึ่งจัดเป็นฝ้ายเส้นใยยาวปานกลางและมีความละเอียดอ่อนของเส้นใยในระดับปานกลาง (4.4) ในขณะที่พันธุ์ตากฟ้า 3 มีเปอร์เซ็นต์หีบที่ต่ำกว่าคือ 32.9 เปอร์เซ็นต์ มีความยาวเส้นใยเพียง 0.84 นิ้ว ซึ่งจัดเป็นฝ้ายเส้นใยสั้น และมีความหยาบของเส้นใยมากกว่า (5.3)

พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทย สามารถปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก (น้อยกว่า 1 ไร่) ในสภาพปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ถึงแม้ว่าฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 จะมีศักยภาพในการให้ผลผลิต ในสภาพการปลูกแบบปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย แต่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการใช้วิธีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปลูก ฤดูปลูก รวมถึงการใช้สารชีวภัณฑ์ร่วมด้วย หากพบว่ามีการระบาดของแมลงศัตรูฝ้ายอย่างรุนแรง

วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

2 / 0

error: Content is protected !!