มันสำปะหลัง พันธุ์ระยอง 15

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 หรือ มันสำปะหลังสายพันธุ์ OMR45-27-76 ได้จากการผสมเปิดของพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ที่ให้ ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม

พันธุ์มันสำปะหลัง ระยอง 15

ประวัติ
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 หรือ มันสำปะหลังสายพันธุ์ OMR45-27-76 ได้จากการผสมเปิดของพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ที่ให้ ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม เริ่มดำเนินการผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ในปี 2545 หลังจากผ่านการคัดเลือกพันธุ์ และเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้นที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองแล้ว ได้นำไปปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน และประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฯ ตลอดจนไร่เกษตรกรจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศรวม 16 จังหวัด ดำเนินการตั้งแต่ปี 2545-2558 มีจำนวนแปลงทดลองตั้งแต่ขั้นคัดเลือกพันธุ์จนถึงขั้นทดสอบพันธุ์รวมทั้งสิ้น 40 แปลงทดลอง

ลักษณะประจำพันธุ์
ลำต้นมีสีเขียวเงิน สูง 215 เซนติเมตร จำนวนชั้นของการแตกกิ่ง 0-1 ชั้น ระดับความสูงที่แตกกิ่ง 140-160 เซนติเมตร มุมของกิ่ง 80-95 องศา ก้านใบมีสีแดงอมเขียว ยาว 15-20 เซนติเมตร ใบรูปร่างของแฉกใบกลางเป็นแบบ Lanceolate ใบแรกที่เจริญเต็มที่มีสีเขียวเข้ม ยอดอ่อนมีสีเขียวอ่อน สีของผลภายนอกหัวมีสีน้ำตาล เนื้อมีสีขาว ผลผลิตหัวสด 4,632 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 29.2 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตแป้ง 1,355 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์มันแห้ง 39.4 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตมันแห้ง 1,826 กิโลกรัมต่อไร่ ดัชนีการเก็บเกี่ยว 0.62 เปอร์เซ็นต์ ความต้านทานโรคใบไหม้ในสภาพโรงเรือนค่อนข้างอ่อนแอ การเข้าทำลายของไรแดงระดับปานกลาง การเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งระดับเล็กน้อย การเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาวระดับเล็กน้อย

ลักษณะเด่น
1. มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อายุ 8 เดือน
2. ผลผลิตหัวสดสูงเฉลี่ย 4,632 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50คิดเป็นร้อยละ 10 18 5 และ 4 ตามลำดับ เมื่ออายุ 8 เดือน
3. เปอร์เซ็นต์แป้งสูงเฉลี่ย 29.2 สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และระยอง 72 คิดเป็นร้อยละ 4 1 และ 5 ตามลำดับเมื่ออายุ 8 เดือน
4. ผลผลิตแป้งสูงเฉลี่ย 1,355 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 13 18 10 และ 2 ตามลำดับ เมื่ออายุ 8 เดือน

พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไปทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พื้นที่ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี ขอนแก่น เลย มหาสารคาม มุกดาหาร และอุบลราชธานี เป็นต้น

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ในฤดูฝน

คุณค่าและการใช้ประโยชน์
ให้ผลผลิตสูงและแป้งสูงที่อายุ 8 เดือน สามารถแนะนำพันธุ์นี้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังเร็วกว่าปกติ อันเนื่องมาจาก น้ำท่วม หรือฝนแล้งเป็นเวลานานซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิต

วันที่รับรอง : 6 มิถุนายน 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!