มะม่วงหิมพานต์ ศรีสะเกษ 3

มะม่วงหิมพานต์ พันธุ์ศรีสะเกษ 3 หรือ มะม่วงหิมพานต์สายพันธุ์ ศก.38/16×34/4 (2) โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เริ่มสร้างมะม่วงหิมพานต์ลูกผสมในปี 2535-2538

พันธุ์มะม่วงหิมพานต์ ศรีสะเกษ 3

ประวัติ
มะม่วงหิมพานต์ พันธุ์ศรีสะเกษ 3 (Cashew nut Si Ka Ket 3) หรือ มะม่วงหิมพานต์สายพันธุ์ ศก.38/16×34/4 (2) โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เริ่มสร้างมะม่วงหิมพานต์ลูกผสมในปี 2535-2538 ระหว่างพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร คือ ศรีสะเกษ 60-1 และ ศรีสะเกษ 60-2 นำมาผสมกับสายต้นคัดจากต่างประเทศ 19 สายต้นและลูกผสมระหว่างสายต้นคัดกับสายต้นคัด ได้ลูกผสมจำนวน 18 คู่ผสม คือ ศก.34/4×60-2, ศก.26/2×60-2 (4), ศก.26/2×60-2 (6), ศก.31W/10×60-2, ศก.32/4×38/11, ศก.34/16×34/4 (1), ศก.38/16×34/4 (2), ศก.38/16×34/4 (3), ศก.41/3×60-2, ศก.17/3×15/3, ศก.17/3×34/13, ศก.17/3x37W/2, ศก.34/13×38/7, ศก.26/3×60-1, ศก.30/7×60-1, ศก.34/13×60-1, ศก.31W/2×60-1 และ ศก.41/4×60-1 ปี 2539-2543 ทำการศึกษาและคัดเลือกมะม่วงหิมพานต์ลูกผสมทั้ง 18 คู่ผสม

โดยมีพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร คือ ศรีสะเกษ 60-1 และศรีสะเกษ 60-2 เป็นตัวเปรียบเทียบโดยใช้เกณฑ์ในการคัดเลือก คือ ผลผลิตสูงคุณภาพเมล็ดดี เปอร์เซ็นต์เมล็ดเนื้อในสูง และการเข้าทำลายของโรคแมลงน้อย สามารถคัดเลือกพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ลูกผสมที่มีลักษณะทางการเกษตรที่ดีได้จำนวน 10 สายต้น คือ ศก.38/16×34/4 (2), ศก.38/16×34/4 (1), ศก.41/3×60-2 (2), ศก.17/3x37W/2, ศก.31W/2×60-1 (3), ศก.34/13×60-1 (5), ศก.17/3×34/13, ศก.41/4×60-1 (2), ศก.34/13×38/7 และ ศก.30/7×60-1 ปี 2554-2558 ได้ทำการเปรียบเทียบมะม่วงหิมพานต์ในแหล่งปลูกต่างๆ จำนวน 2 แหล่งปลูก คือ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โดยทำการคัดเลือกมะม่วงหิมพานต์ลูกผสมจาก 10 สายต้นดังกล่าว มาจำนวน 4 สายต้น คือ ศก.38/16×34/4 (1), ศก.38/16×34/4 (2), ศก.17/3x37w/2 และ ศก.17/3×34/13 และสายต้นคัดจากต่างประเทศที่ผ่านการคัดเลือกอีกจำนวน 2 สายต้น คือ ศก.37W-2 และ นครพนม 3-1 โดยมีพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร คือ ศรีสะเกษ 60-1 และศรีสะเกษ 60-2 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ วางแผนการทดลองแบบ RCB กรรมวิธีประกอบด้วยสายต้นมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 8 กรรมวิธี (สายต้น) 3 ซ้ำ โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ที่ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์รับรอง น้ำหนักต่อเมล็ดมากกว่า 6.30 กรัม เมล็ดเนื้อในมากกว่าร้อยละ 25 และการเข้าทำลายของโรคแมลงน้อย ปี 2559-2562 ได้ขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนามะม่วงหิมพานต์ (ระยะที่ 2) เพิ่มอีก 4 ปี เพื่อเก็บข้อมูลให้สมบูรณ์ จนสามารถคัดเลือกมะม่วงหิมพานต์ที่มีลักษณะดีตรงตามเกณฑ์ได้จำนวน 1 สายต้น คือ ศก.38/16×34/4 (2)

ลักษณะประจำพันธุ์
มะม่วงหิมพานต์พันธุ์ศรีสะเกษ 3 เป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลม (dome shape) ใบรูปร่างใบรูปไข่ (oblong obovate) ขนาดใบกว้าง 12-13.5 เซนติเมตร ยาว 16.0-19.5 เซนติเมตร การออกดอกออกดอกบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกแบบ panicle มีจำนวน 8-11 ช่อดอก ความยาวช่อดอก 15-25 เซนติเมตร ผลปลอม (apple) มีสีเหลือง เมล็ดรูปร่างคล้ายไต (kidney-shape) มีสีเทา ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น 5.3 กิโลกรัม น้ำหนักเมล็ดทั้งเปลือกเฉลี่ย 8.5 กรัม จำนวนเมล็ดทั้งเปลือกต่อกิโลกรัม 131.6 เมล็ด น้ำหนักเมล็ดเนื้อในเฉลี่ยต่อเมล็ด 2.6 กรัม เปอร์เซ็นต์เมล็ดเนื้อใน 30.8 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดทั้งเปลือกมี ขนาดกว้าง 2.31 เซนติเมตร ยาว 3.39 เซนติเมตร หนา 1.79 เซนติเมตร เมล็ดเนื้อในมีขนาดกว้าง 1.13 เซนติเมตร ยาว 2.84 เซนติเมตร หนา 1.24 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวหลังแทงช่อดอก 92 วัน

ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตสูง ผลผลิตเมล็ดทั้งเปลือกต่อต้นเฉลี่ย 3 ปี (อายุ 5-7 ปี) ค่าเฉลี่ย 2 สถานที่ เท่ากับ 5.38 กิโลกรัมต่อต้นซึ่งสูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ 60-1 ร้อยละ 23.1 และสูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ 60-2 ร้อยละ 63

2. น้ำหนักเมล็ดทั้งเปลือกต่อเมล็ดสูง น้ำหนักเมล็ดทั้งเปลือกต่อเมล็ดเฉลี่ย 2 สถานที่ เท่ากับ 8.5 กรัม ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ 60-1 ร้อยละ 13.3 และสูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ 60-2 ร้อยละ 15

3. เปอร์เซ็นต์เมล็ดเนื้อในสูง เปอร์เซ็นต์เมล็ดเนื้อในเฉลี่ย 2 สถานที่ เท่ากับร้อยละ 30.8 สูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ 60-1 ร้อยละ 8.1 และสูงกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ 60-2 ร้อยละ 12

พื้นที่แนะนำ
แหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย

คุณค่าและการใช้ประโยชน์
มะม่วงหิมพานต์นิยมนำมารับประทานมากกว่าใช้ในทางอุตสาหกรรม รับประทานเป็นของเคี้ยวเล่นเมื่อแกะเปลือกออกแล้วนำมาคั่ว ทอดหรืออบโรยด้วยเกลือหรือคลุกน้ำตาล มะม่วงหิมพานต์พันธุ์ศรีสะเกษ 3 ได้มีการปลูกทดสอบในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของไทย สามารถให้ผลผลิตและคุณภาพเมล็ดที่ดีเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ดังกล่าว และสามารถขยายผลไปปลูกในพื้นที่อื่นได้ดี

วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!