อันชัน พันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63
ประวัติ
อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 หรือ อัญชันสายพันธุ์ 7-1-16 คัดได้จากอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไป (common cultivar) ซึ่งมีความแปรปรวนทางพันธุกรรม ปี 2554-2557 คัดเลือกพันธุ์และเปรียบเทียบพันธุ์ ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และปี 2559 ทดสอบพันธุ์ ในแปลงเกษตรกร จังหวัดอ่างทอง
ลักษณะประจำพันธุ์
ลำต้นแบบไม้พันเลื้อย (twining) ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ (odd-pinnate) มี 5 และ 7 ใบย่อย รูปร่างใบรี (elliptic) หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ (narrow triangular) ดอกรูประฆัง (campanulate; bell-shaped) มีสีน้ำเงินเข้ม (blue group N95 A) ยาว 5.30 เซนติเมตร กว้าง 3.78 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 0.38 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบแบบซ้อนเวียน กลีบดอกชั้นนอกเป็นรูปไข่กลับ (obovate) มีขนาดยาว 4.92 เซนติเมตร
กว้าง 3.36 เซนติเมตร ใบประดับย่อยแบบกลม (rounded) ฝักแก่เป็นรูปขอบขนาน คล้ายแถบ (linear-oblong) สีน้ำตาลซีด (pale brown) ยาว 9.78 เซนติเมตร กว้าง 1.10 เซนติเมตร ผิวเปลือกเมล็ดมีรอยเว้า (pit) เปลือกเมล็ดมีลาย (mottle) เมล็ดรูปขอบขนาน (oblong) มีสีน้ำตาลเกือบดำ จำนวนเมล็ด 5-8 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดจำนวน 100 เมล็ด มีน้ำหนัก 7 กรัม
ลักษณะเด่น
1. ลักษณะดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ ซ้อนเวียน
2. ผลผลิตดอกสดเฉลี่ย 2,122 กิโลกรัมต่อไร่
3. เก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเร็วกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 6 วัน
4. ปริมาณแอนโทไซยานินรวมมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม
พื้นที่แนะนำ
เขตภาคเหนือตอนล่าง และเขตภาคกลาง
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
1. ไม่ควรปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขัง
2. กรณีปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ และเพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ควรปลูกห่างจากบริเวณที่มีการปลูกพันธุ์อื่น เพื่อให้ได้เมล็ดตรงตามพันธุ์
วันที่รับรอง : 19 มีนาคม 2561 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0