พันธุ์พริกขี้หนูสวน กาญจนบุรี 2
ประวัติ
พริกขี้หนูสวนพันธุ์กาญจนบุรี 2 Bird Chili Kanchanaburi 2 หรือ พริกขี้หนูสวนสายพันธุ์ 51-20-1-3-1 ได้จากการรวบรวมพันธุ์พริกขี้หนูสวนระหว่างปี 2551-2554 จำนวน 14 ตัวอย่าง คัดเลือกพันธุ์แบบสืบประวัติ (pedigree method) ในสภาพร่มเงาต้นไม้ใหญ่ที่ตัดแต่งแบบหนัก (hard pruning) คัดเลือกทั้งหมด 3 ชั่ว ระหว่างปี 2556-2558 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย เปรียบเทียบพันธุ์กับพริกพันธุ์การค้า ในปี 2559 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายทดสอบพันธุ์ในแหล่งปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ในปี 2560 และทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกร จังหวัดกาญจนบุรี และตรัง ในปี 2561
ลักษณะประจำพันธุ์
วงจรชีวิตแบบหลายฤดู ต้นอ่อนมีสีม่วง ใบรูปร่างลักษณะรูปสามเหลี่ยม จำนวนดอกต่อข้อ 2-3 ดอก กลีบดอกสีขาวแกมเขียว เกสรตัวผู้สีม่วง ไม่มีเกสรตัวผู้เป็นหมัน ผลแก่สีเขียว ผลสุกสีแดงเข้ม ผลมีรูปร่างเรียวยาว ยาว 2.7-3.2 เซนติเมตร กว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร ไม่มีคอคอดที่ฐานของผล ลักษณะผิวของผลเรียบเป็นมัน เมล็ดสีเหลืองเข้ม ต้นมีความสูง 67–72 เซนติเมตร การแตกกิ่งเป็นแบบพุ่มแผ่กว้าง อายุออกดอก 70-74 วัน อายุวันเก็บเกี่ยวผลผลิต 100 วัน น้ำหนักผล 0.29 กรัม น้ำหนักเมล็ด 1,000 เมล็ด 7 กรัม จำนวนเมล็ดต่อผล 10–12 เมล็ด คุณสมบัติทางเคมี มีปริมาณ แคพไซซิน (capsaicin) 7.52 มิลลิกรัมต่อกรัม
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 19.8
2. เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าพันธุ์การค้า อย่างน้อย 1 เดือน
พื้นที่แนะนำ
สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์ เลย ตาก อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี ตรัง และพัทลุง หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะภูมิอากาศคล้ายคลึงกับพื้นที่ดังกล่าว
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ควรปลูกในสภาพร่มเงาประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผลพริกมีผลสีสด ผิวเป็นเงา และมีอายุการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์พริกพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสำหรับการบริโภคสด โดยใช้เป็นส่วนประกอบ และปรุงแต่งรสชาติอาหารไทย เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกอื่นๆ น้ำจิ้มซีฟู๊ด ยำไทยต่างๆ ต้มยำ น้ำปลาพริก หรือเป็นผักเคียงกับอาหารว่างคาวหวาน เช่น สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวขาหมู ฯลฯ
วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
3 / 0