กาแฟอาราบิก้า พันธุ์เชียงราย 2
ประวัติ
กาแฟอาราบิก้า พันธุ์เชียงราย 2 หรือ กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ H420/9ML2/8KW78KK106ML3/1WW29/13 ได้คัดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์ Mundo Novo 1535/33 กับพันธุ์ H.W. 26/14 (19/1 Caturra Vermelho x 832/1 Hibrido de Timor) โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ (Centro de Investigacao das Ferrugens do Cafeciro = CIFC) เมือง Oeiras ประเทศโปรตุเกส ได้ลูกผสมชั่วที่ 1 ในปี 2503 โดยแต่ละชั่ว (generation) ได้ถูกส่งไปปลูกคัดเลือกในประเทศแองโกลา บราซิล โปรตุเกส และไทย โดยในประเทศไทยได้ทำการทดสอบในชั่วที่ 2 ในปี 2518-2524 ดำเนินการที่ ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าแม่หลอด (ปัจจุบันคือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) ประเทศไทย ชั่วที่ 3 ดำเนินการในปี 2525-2532 ดำเนินการที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ชั่วที่ 4 ดำเนินการในปี 2532-2543 ดำเนินการที่ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในประเทศไทย ชั่วที่ 5 ดำเนินการในปี 2543-2546 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัย และส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าแม่หลอด (ปัจจุบันคือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) ชั่วที่ 6 ในปี 2546-2555 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าแม่หลอด (ปัจจุบันคือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี: 1,449 เมตร) อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ชั่วที่ 7 ในปี 2555-2562 ดำเนินการคัดเลือกและเปรียบเทียบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,200-1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี: 1,449 เมตร) อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง: 1,275 เมตร) ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี 2563 ได้สายพันธุ์ดีเด่น คือ H420/9ML2/8KW78KK106ML3/1WW29/13
ลักษณะประจำพันธุ์
ทรงต้นเป็นไม้พุ่มทรงเตี้ย (bush) สูง 174.25 เซนติเมตร ทรงพุ่มเป็นแบบปิรามิด (pyramidal) มีขนาด 159.75 เซนติเมตร การแตกของกิ่งแบบแผ่กว้าง ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อต้นแก่น้ำตาลอ่อน, น้ำตาลแก่ ใบมีรูปร่างรูปรี (elliptic) ขอบใบเป็นคลื่น ปลายใบแหลม ฐานใบโคนแหลม ผิวใบเป็นมันและแผ่นใบไม่มีขน ใบมีสีเขียว ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ มี 17-25 ดอกต่อข้อ และมีสีขาว ผลมีรูปร่างผลกลม, กลมรี ปลายผลโค้งมน ผิวเปลือกนอกเรียบเป็นมัน ผลแก่มีสีแดง Red 53 A และ ผิวกะลามีสีเหลืองอ่อน ผลมีน้ำหนัก 1.45 กรัมต่อผล เมล็ดมีลักษณะกลมรี ผิวกะลาเรียบ เมล็ดมีสีเขียวแกมเทา เมล็ดต่อน้ำหนัก 100 กรัม มีประมาณ 608 เมล็ด และมีน้ำหนักประมาณ 165 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด
ลักษณะเด่น
1. ความต้านทานต่อโรคราสนิมสูง
2. เมื่ออายุ 8 ปี ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ (green bean หรือ coffee bean) 623.65 กรัมต่อต้น สูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 537.5 กรัมต่อต้น
3. ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A เฉลี่ย 81.89 เปอร์เซ็นต์
4. คุณภาพการชิม (cup quality test) 76-79 คะแนน เปรียบเทียบกับพันธุ์เชียงใหม่ 80 ได้ 76 คะแนน
พื้นที่แนะนำ
1. เขตภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ขึ้นไป
2. พื้นที่อุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซลเซียส
3. ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี
4. ดินมีความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะประมาณ 6-6.8
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงา ป่าธรรมชาติ ระหว่างแถวปลูก เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค ถั่วหูช้าง เหรียง สะตอ และมะคาเดเมีย เป็นต้น เนื่องจากโดยทั่วไปกาแฟอาราบิก้าไม่ทนต่อสภาวะอากาศร้อน แห้งแล้ง โดยตรง
วันที่รับรอง : 19 กรกฎาคม 2564 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0