กาแฟอาราบิก้า เชียงราย 1

coffee arabica chiang rai 1

กาแฟอาราบิก้า พันธุ์เชียงราย 1 หรือ กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ ได้คัดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์ Mundo Novo 1535/33 กับพันธุ์ H.W. 26/14

กาแฟอาราบิก้า พันธุ์เชียงราย 1

ประวัติ
กาแฟอาราบิก้า พันธุ์เชียงราย 1 หรือ กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ H420/9ML/28KW78KK106ML/31WW29/6 ได้คัดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์ Mundo Novo 1535/33 กับพันธุ์ H.W. 26/14 (19/1 Caturra Vermelho x 8/321 Hibrio de Timor) โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ (Centro de Investigacao das Ferrugens do Cafeciro = CIFC) เมือง Oeiras ประเทศโปรตุเกสได้ลูกผสมชั่วที่ 1 ในปี 2503 โดยแต่ละชั่ว (generation) ได้ถูกส่งไปปลูกคัดเลือกในประเทศแองโกลา บราซิล โปรตุเกส และไทย โดยในประเทศไทยได้ทำการทดสอบในชั่วที่ 2 ในปี 2518-2524 ดำเนินการที่ ศูนย์วิจัย และส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าแม่หลอด (ปัจจุบันคือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) ประเทศไทย ชั่วที่ 3 ดำเนินการในปี 2525-2532 ดำเนินการที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ชั่วที่ 4 ดำเนินการในปี 2532-2543 ดำเนินการที่ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในประเทศไทย ชั่วที่ 5 ดำเนินการในปี 2543-2546 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัย และส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าแม่หลอด (ปัจจุบันคือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) ชั่วที่ 6 ในปี 2546-2555 ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิก้าแม่หลอด (ปัจจุบันคือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี: 1,449 เมตร) อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ชั่วที่ 7 ในปี 2555-2562 ดำเนินการคัดเลือกและเปรียบเทียบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,200-1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี: 1,449 เมตร) อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง: 1,275 เมตร) ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี 2563 ได้สายพันธุ์ดีเด่น คือ กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ H420/9ML/28KW78KK106ML/31WW29/6

ลักษณะประจำพันธุ์
การเจริญเติบโตแบบต้นเดี่ยว ความสูงต้นเมื่อผลแรกสุก 135.5 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้าง 152 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนาดยาว 73 เซนติเมตร กว้าง 75 เซนติเมตร จำนวนกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาวครีม รูปทรงผลรูปแท่ง (club) สีผิวผลเมื่อสุกส้มเหลือง (O 25A) สีเนื้อสุกสีส้มแดง (OR 31A) อายุดอกแรกบานหลังปลูกเฉลี่ย 122 วัน อายุเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 153 วัน น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม ผลมีขนาดยาวเฉลี่ย 32.9 เซนติเมตร กว้างเฉลี่ย 11.4 เซนติเมตร ความหนาเนื้อเฉลี่ย 3.34 เซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 10.4 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผล 17.3 ผลต่อต้นเฉลี่ย ผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กิโลกรัมต่อต้น

ลักษณะเด่น
1. ความต้านทานต่อโรคราสนิมสูง

2. เมื่ออายุ 8 ปี ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ (green bean หรือ coffee bean) 569.6 กรัมต่อต้น สูงกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 537.5 กรัมต่อต้น

3. ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A เฉลี่ย 81.8 เปอร์เซ็นต์

4. คุณภาพการชิม (cup quality test) 78-79.5 คะแนน เปรียบเทียบกับ พันธุ์เชียงใหม่ 80 ได้ 76 คะแนน

พื้นที่แนะนำ
1. เขตภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ขึ้นไป

2. พื้นที่อุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซลเซียส

3. ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี

4. ดินมีความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะประมาณ 6-6.8

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงา ป่าธรรมชาติ ระหว่างแถวปลูก เช่น ซิลเวอร์โอ๊ค ถั่วหูช้าง เหรียง สะตอ และมะคาเดเมีย เป็นต้น เนื่องจากโดยทั่วไปกาแฟอาราบิก้าไม่ทนต่อสภาวะอากาศร้อน แห้งแล้ง โดยตรง

วันที่รับรอง : 19 กรกฎาคม 2564 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!