มะละกอฮอลแลนด์ ศรีสะเกษ

มะละกอฮอลแลนด์ พันธุ์ศรีสะเกษ (Holland Papaya Si Sa Ke) หรือ มะละกอฮอลแลนด์สายพันธุ์ ศก.2-6-12

มะละกอฮอลแลนด์ พันธุ์ศรีสะเกษ

ประวัติ
มะละกอฮอลแลนด์ พันธุ์ศรีสะเกษ (Holland Papaya Si Sa Ke) หรือ มะละกอฮอลแลนด์ สายพันธุ์ ศก.2-6-12 ถูกปรับปรุงเนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการแตกต่างกัน คือ มะละกอดิบต้องการ ผลเรียวยาว ผิวเรียบ ความกว้าง ผลเหมาะมือสำหรับจับและสับได้โดยถนัด เนื้อแน่น กรอบ ส่วนมะละกอรับประทานสุก รสชาติหวานหอมเนื้อแน่น สีสวย เป็นต้น ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ออกเป็นพันธุ์แนะนำมะละกอแขกดำศรีสะเกษ ปี 2537 และเป็นพันธุ์รับรองเมื่อ ปี 2540 เหมาะสำหรับ ผลไม้แปรรูป รับประทานดิบและบริโภคสุก ปัญหาใหญ่ของการปลูกมะละกอ คือ การระบาดของโรคไวรัสจุดวงแหวน และการปนพันธุ์ของมะละกอ GMOs มะละกอฮอลแลนด์จัดเป็นมะละกอเพื่อรับประทานสุก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูง โดยราคาซื้อขายในท้องตลาดจะสูงกว่าพันธุ์แขกดำหรือ แขกนวล กิโลกรัมละ 10 บาท ปัญหาของมะละกอฮอลแลนด์ คือ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี พันธุ์ราคาแพง พันธุ์ทั่วไปมีความแปรปรวนในพันธุ์สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงและคุณภาพผลผลิตต่ำ

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้รวบรวมพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์มาจาก 7 แหล่งคือ จังหวัดลำพูน สุโขทัย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง และตรัง จำนวน 27 ตัวอย่าง มาปลูกใน ปี 2553-2554 โดยปลูกเป็นแถวคัดเลือกต้นที่มีลักษณะทางการเกษตรดีตามเกณฑ์การคัดเลือกพันธุ์ เช่น ออกดอกติดผลเร็ว ต้นเตี้ย ลำต้นใหญ่ ผลขนาดปานกลาง-ใหญ่ ผลทรงกระบอก สีผิวผลเหลืองและสีเนื้อส้มอมแดงเนื้อหนา หวานหอม คัดเลือกได้ 25 สายพันธุ์ นำไปปลูกใน ปี 2555 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ คัดเลือกได้ 12 สายพันธุ์ ปี 2557-2560 ปลูกทดสอบพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ 4 แหล่ง คือ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง วางแผนการทดลองแบบ RCB ใช้สายพันธุ์เป็นกรรมวิธี ทั้ง 4 แหล่งปลูกดังนี้ ปี 2557 ปลูกทดสอบพันธุ์ 12 สายพันธุ์ คัดเลือกได้ 8 สายพันธุ์ ปี 2558 ปลูกทดสอบและคัดเลือกได้ 5 สายพันธุ์ ปี 2559 ปลูกทดสอบและคัดเลือกได้ 3 สายพันธุ์ และ ปี 2560 ปลูกทดสอบและคัดเลือกได้ 1 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ ศก.2-6-12 เป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง 24.5 กิโลกรัมต่อต้น สูงกว่าฮอลแลนด์พันธุ์การค้า (ตราปลาวาฬ) ที่ให้ผลผลิต 16.0 กิโลกรัม ต่อต้น คิดเป็นร้อยละ 34.7 อายุจากวันปลูกถึง เก็บเกี่ยวผลผลิต 209 วัน พันธุ์การค้ามีอายุเก็บเกี่ยว 255 วัน เก็บเกี่ยวเร็วกว่าพันธุ์การค้า 46 วัน ลำต้นใหญ่ ต้นเตี้ย ทรงพุ่มเล็ก และคุณภาพผลผลิตดี

ลักษณะประจำพันธุ์
ความสูงต้น เมื่อผลแรกสุก 128 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางโคนต้น เมื่อดอกแรกบาน 4.7 เซนติเมตร จำนวนข้อลำต้น 16 ข้อ ทรงพุ่มกว้าง 114 เซนติเมตร มีกลางใบ-มีกระโดงใบ ผลเป็นรูปทรงกระบอก ผิวเรียบ เมื่อสุกสีผิวผลสีส้ม (Y-O 23 A) สีเนื้อสุกสีส้มอมแดง (O-R N30 A) อายุดอกแรกบาน 105 วัน อายุเก็บเกี่ยวหลังดอกแรกบาน 104 วัน อายุจากปลูก-เก็บเกี่ยว 209 วัน น้ำหนักต่อผล 825 กรัม ความหนาเนื้อ 3 เซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด (TSS) 12 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผล 28.9 ผลต่อต้น ผลผลิตเฉลี่ย 24.5 กิโลกรัมต่อต้น เนื้อผลสดมีกลิ่นหอม

ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 24.5 กิโลกรัมต่อต้น สูงกว่าพันธุ์การค้า ร้อยละ 34.7

2. ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวสะดวก ความสูงถึงปลายยอด 128 เซนติเมตร สูงน้อยกว่าพันธุ์การค้า ร้อยละ 4.5

3. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นใหญ่ แข็งแรงและสมดุลที่จะรับน้ำหนักผลผลิตได้มากมีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 4.7 เซนติเมตร ใหญ่กว่าพันธุ์การค้า ร้อยละ 17

4. เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูก 209 วัน เร็วกว่าพันธุ์การค้า 46 วัน

5. ความหนาเนื้อ เฉลี่ย 3.0 เซนติเมตร หนากว่าพันธุ์การค้า ร้อยละ 16.7

6. สีเนื้อสีส้มอมแดง (O-R N30 A) สีเข้มกว่าพันธุ์การค้า (O N25 A)

พื้นที่แนะนำ
1. ปลูกได้ทั่วไป ที่มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี และมีแหล่งน้ำเพียงพอ

2. แนะนำให้ปลูกหลุมละ 1-2 ต้น เพื่อคัดแยกเพศดอก

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
1. ไม่ควรปลูกในพื้นที่มีโรคไวรัสจุดวงแหวน (PRSV) และมะละกอตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) จะทำให้มะละกอที่ปลูกเป็นโรคและมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม

2. ไม่ควรปลูกในที่ลุ่มต่ำ หรือดินระบายน้ำเลว

คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์มะละกอฮอลแลนด์พันธุ์ใหม่ที่เป็นพันธุ์ผสมเปิด สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในรุ่นต่อไปได้ พันธุ์หาได้ง่าย พันธุ์มีความคงตัวของพันธุกรรม และราคาเหมาะสม

วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

2 / 0

error: Content is protected !!