กล้วยเล็บมือนาง พันธุ์ชุมพร 1
ประวัติ
กล้วยเล็บมือนาง พันธุ์ชุมพร 1 (Lep Mue Nang banana Chumphon 1) หรือ กล้วยเล็บมือนางสายต้น 008 ได้มาจากการสำรวจ คัดเลือกและรวบรวมกล้วยเล็บมือนางสายต้นที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพผลผลิตดี ลักษณะผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดจากแปลงเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ปี 2554 โดยได้ทำการบันทึกประวัติพันธุ์ และคัดเลือกมาได้ 21 สายต้น จากนั้นนำกล้วยเล็บมือนางทั้ง 21 สายต้นที่คัดเลือกมาปลูกเปรียบเทียบที่แปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร ในปี 2555-2557 และได้คัดเลือกสายต้นที่มีการเจริญเติบโตดีให้ผลผลิตสูง เหมาะที่จะพัฒนาสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสด จำนวน 5 สายต้น ได้แก่สายต้น 001, 002, 007, 008 และ 017 ในปี 2558 นำมาปลูกขยายหน่อพันธุ์ จากนั้นปลูกทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ในปี 2559-2561 โดยใช้สายต้น 001 (พันธุ์พื้นเมือง) เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ จนได้สายต้นดีเด่น 008 (กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1) ที่มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสด และประเมินการยอมรับของเกษตรกร ร้านค้า และผู้บริโภค
ลักษณะประจำพันธุ์
ลำต้นเทียมมีสีเขียวปนเหลือง ตำแหน่งของหน่อข้างใกล้ต้นแม่ วิสัยของใบเป็นลักษณะโค้งลง แผ่นใบมีขนาดยาว 220-260 เซนติเมตร กว้าง 50-70 เซนติเมตร ก้านใบมีความยาว 25-30 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเรียบ สีของแผ่นใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวปนเหลือง รูปร่างของปลายใบมนเล็กน้อย รูปร่างของโคนใบด้านหนึ่งกลมอีกด้านหนึ่งแหลม ก้านช่อดอกมีขนาดยาว 25-30 เซนติเมตร กว้าง 5-6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีสีเขียวอ่อน ตำแหน่งของเครือกล้วยทำมุม รูปร่างของเครือกล้วยเป็นรูปทรงกระบอก แกนของเครือเกือบตรง ลักษณะปรากฏของเครือแน่น รูปร่างของปลีกล้วยเป็นรูปหอก รูปร่างของโคนใบประดับไหล่แคบ รูปร่างปลายใบประดับแหลมเรียว สีผิวด้านนอกของใบประดับนอกม่วงดำ ก้านชูอับเรณูสีครีมอับเรณูสีครีม ก้านเกสรเพศเมียสีครีม เกสรเพศเมียสีครีม ก้านเกสรเพศเมียรูปร่างตรง ดอกเพศผู้สีครีม ผลกล้วยมีรูปร่างโค้งบริเวณปลายผลเล็กน้อย รูปหน้าตัดผลตามขวางกลม รูปร่างปลายผลแหลมยาว ความยาวก้านผล 1-2 เซนติเมตร เปลือกผลดิบสีเขียว เปลือกผลสุกสีเหลือง เนื้อผลดิบสีครีม เนื้อผลสุกสีครีม เนื้อมีลักษณะเนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด ลำต้นเทียมสูง 2.29 เมตร เส้นรอบวงของลำต้นเทียม 49.4 เซนติเมตร จำนวนหน่อ 5-10 หน่อต่อปี อายุออกดอก 6-7 เดือนหลังปลูก อายุดอกบาน 14 วัน อายุเก็บเกี่ยว 55.2 วัน น้ำหนักเครือ 5.7 กิโลกรัม จำนวนหวีต่อเครือ 7.7 หวี หวีมีน้ำหนัก 664.5 กรัม จำนวนผล 17 ผลต่อหวีน้ำหนักผล 33.8 กรัม ความหวาน 25.8 องศาบริกซ์ ความแน่นเนื้อ 2.8 นิวตัน
ลักษณะเด่น
1. เครือใหญ่ น้ำหนักเครือเฉลี่ย 5.7 กิโลกรัม สูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง ร้อยละ 14.0
2. ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักผลเฉลี่ย 33.8 กรัม สูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง ร้อยละ 3.0 เนื้อแน่น เหมาะสำหรับการแปรรูปกล้วยอบและกล้วยฉาบ และบริโภคผลสุก
3. การจัดเรียงของผลในหวีเป็นระเบียบเหมาะแก่การบรรจุหีบห่อ
พื้นที่แนะนำ
เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนได้นำพันธุ์กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 ไปปลูกเพื่อทดแทนกล้วยเล็บมือนางพันธุ์พื้นเมืองทำให้ผลผลิตที่ได้สูงขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการปลูกกล้วยเล็บมือนางแบบเดิม
วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกตษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0