ถั่วลิสง พันธุ์ขอนแก่น 9

ถั่วลิสง พันธุ์ขอนแก่น 9 (Peanut Khon Kaen 9) หรือ ถั่วลิสงสายพันธุ์ KK97-44-106 อยู่ในกลุ่มที่มีขนาดเมล็ดปานกลางคัดได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์ KKFC4000-1 กับพันธุ์ไทนาน 9 ในปี 2540

พันธุ์ถั่วลิสง ขอนแก่น 9

ประวัติ
ถั่วลิสง พันธุ์ขอนแก่น 9 (Peanut Khon Kaen 9) หรือ ถั่วลิสงสายพันธุ์ KK97-44-106 อยู่ในกลุ่มที่มีขนาดเมล็ดปานกลางคัดได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์ KKFC4000-1 กับพันธุ์ไทนาน 9 ในปี 2540 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นปลูกชั่วที่ 1 ในปี 2541 คัดเลือกสายพันธุ์ชั่วที่ 2-6 ระหว่างปี 2542-2544 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และแปลงทดลองห้วยหลวง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี การเปรียบเทียบเบื้องต้น ระหว่างปี 2545-2546 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และแปลงทดลองห้วยหลวง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี การเปรียบเทียบมาตรฐานระหว่างปี 2549-2550 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ การเปรียบเทียบในท้องถิ่น ระหว่างปี 2550-2552 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตอุดรธานี อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี การเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ระหว่างปี 2554-2560 ที่ไร่เกษตรกรจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ น่าน และลำพูน ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์และคุณค่าทางโภชนาการรวมทั้งประเมินการยอมรับของเกษตรกรระหว่างปี 2550-2558

ลักษณะประจำพันธุ์
ลำต้นมีสีเขียว ใบมีสีเขียวอ่อน เส้นลายบนฝักเห็นได้ชัดเจน เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีชมพู ดอกสีเหลือง พุ่มมีลักษณะทรงพุ่มตรงลักษณะการติดฝักเป็นกระจุกที่บริเวณโคนต้น อายุถึงวันออกดอก 25-30 วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยว 87-125 วัน จำนวนฝัก 23 ฝักต่อหลุม จำนวนเมล็ด 1-2 เมล็ดต่อฝัก เมล็ด 100 เมล็ด มีน้ำหนัก 52.8 กรัม เปอร์เซ็นต์การกะเทาะ 67 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตฝักแห้ง 264 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสด 602 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตเมล็ดแห้ง 177 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณสมบัติทางเคมีโดยมีองค์ประกอบดังนี้ โปรตีน 32.7 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 22 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 37.8 เปอร์เซ็นต์ น้ำตาล 6.6 เปอร์เซ็นต์ กรดไขมันไม่อิ่มตัวรวม (total unsaturated fatty acid) 22.52 กรดโอเลอิก (oleic acid (C18:1)) 11.88 เปอร์เซ็นต์ กรดลิโนเลอิก (linoleic acid (C18:2)) 10.35 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนกรดโอเลอิกต่อกรดลิโนเลอิก (O/l ratio) 1.15 กรดไขมันอิ่มตัวรวม (total saturated fatty acid) 6.25 กรดปาล์มมิติก (palmitic acid (C16:0)) 3.61 เปอร์เซ็นต์ กรดสเตียริก (stearic acid (C18:0)) 1.12 เปอร์เซ็นต์ กรดอะราคิดิก (arachidic acid (C20:0)) 0.42 เปอร์เซ็นต์ กรดบีฮีนิก (behenic acid (C22:0)) 0.75 เปอร์เซ็นต์ กรดลิกโนซีริก (lignoceric acid (C24:0)) 0.28 เปอร์เซ็นต์ โอเมก้า 3 22.91 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม โอเมก้า 9 12,122 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม โอเมก้า 6 10,351 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ขี้เถ้า 2.7 พลังงาน 559 กิโลแคลลอรี่ (kcal)

ลักษณะเด่น
1. ขนาดเมล็ดโตกว่าพันธุ์มาตรฐานที่อยู่ในกลุ่มขนาดเมล็ดปานกลาง โดยมีน้ำหนัก 100 เมล็ดเท่ากับ 52.8 กรัม โตกว่าถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 5 ที่มีน้ำหนัก 100 เมล็ด เท่ากับ 44.2 และ 48.5 กรัม ร้อยละ 19 และ 9 ตามลำดับ

2. ให้ผลผลิตฝักแห้ง 264 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 5 ที่มีผลผลิตฝักแห้งเท่ากับ 247 และ 250 กิโลกรัมต่อไร่ ร้อยละ 7 และ 6 ตามลำดับ

พื้นที่แนะนำ
ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 9 สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตถั่วลิสงของประเทศไทย

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคราสนิม โรคใบจุดสีดำ และโรคยอดไหม้ และควรมีการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่เป็นพืชที่มีปริมาณโปรตีนสูง สามารถใช้ทดแทนการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีปริมาณโปรตีน 32.70 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันในเมล็ด 37.8 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เช่น ถั่วเคลือบ ถั่วอบเนย ถั่วลิสงทอด หรือใช้ในรูปฝักโดยตรง

วันที่รับรอง : 15 สิงหาคม 2562 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

* * * * *

ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!