พันธุ์อ้อยคั้นน้ำ กวก. สุพรรณบุรี 1
ประวัติ
อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก.สุพรรณบุรี 1 หรือ อ้อยคั้นน้ำโคลน UTj10-3 เป็นโคลนอ้อยที่ได้จากการผสมเปิด (open cross) ของอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ในปี 2547 และคัดเลือกครั้งที่ 1 ในปี 2548 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี แล้วนำเข้าประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ดังนี้ การเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน การเปรียบเทียบในท้องถิ่น และการเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร โดยใช้พันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ทดสอบคุณภาพน้ำอ้อย ได้แก่ สีน้ำอ้อย รสชาติ และกลิ่นหอมโดยผู้ชิมกึ่งชำนาญ (semi-skilled tester) และศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ ได้แก่ ความต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคแส้ดำ การเข้าทำลายของหนอนกออ้อย การตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีของอ้อย และการศึกษาอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของอ้อย ระหว่างปี 2554-2564 รวมทั้งประเมินการยอมรับของเกษตรกร ระหว่างปี 2562-2564
ลักษณะประจำพันธุ์
ทรงกอมีลักษณะปานกลาง การติดของกาบใบกับลำต้นหลวมปานกลาง ยอดอ้อยมีสีเขียว ปล้องมีความยาวและเส้นผ่านศูนย์กลางปล้อง ปานกลาง (11.8 และ 2.99 เซนติเมตร ตามลำดับ) ลักษณะปล้องเป็นแบบโคนโต การเรียงตัวของปล้องค่อนข้างตรงและมีไขที่ปล้องมาก สีปล้องเมื่อต้องแสงมีสีเขียวเหลือบเหลือง และเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเหลืองเหลือบเขียว ไม่มีร่องเหนือตา และรอยแตกของปล้อง ลักษณะของวงเจริญมีความเรียบเท่ากับปล้อง และเมื่อต้องแสงมีสีเหลืองเหลือบเขียวการเรียงตัวของจุดกำเนิดรากไม่เป็นระเบียบ จุดกำเนิดรากเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเขียวเหลือบเหลือง วงรากกว้างปานกลาง มีวงไขตามีลักษณะสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน นูนปานกลาง ยอดตาอยู่ต่ำกว่าวงเจริญ ใบมีลักษณะโค้งปานกลาง ใบมีความกว้างมาก (6.5 เซนติเมตร) และมีขนมาก ลิ้นใบมีแถบตรงกลางพองออกปลายเรียวแหลมทั้ง 2 ข้าง หูใบขอบด้านนอกและด้านในมีลักษณะขอบตรง คอใบเป็นแบบสามเหลี่ยมฐานเว้าขอบบนเรียบและสีเขียว กาบใบไม่มีขน
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,622 ลิตรต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 26
2. ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 11.43 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 21
3. รสชาติน้ำอ้อย มีความหวาน 21.54 องศาบริกซ์ มากกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 2
4. สีน้ำอ้อยมีสีเหลืองอมเขียว (green yellow 1C) เช่นเดียวกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50
5. ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำ
พื้นที่แนะนำ
แนะนำให้ปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก.สุพรรณบุรี 1 ในพื้นที่ดินร่วน ร่วนเหนียว เขตชลประทาน และมีน้ำเสริม ในภาคกลาง และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี ปทุมธานี และกาญจนบุรี
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
ลักษณะทรงกอค่อนข้างแผ่ ควรมีการพูนโคนอ้อยหลังปลูก และระมัดระวังอ้อยหักล้มเมื่อมีลมแรง
คุณค่าและการใช้ประโยชน์
เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ที่มีลำค่อนข้างนิ่ม สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการคั้นน้ำ การเคี้ยว หรือส่งเป็นอ้อยโรงงานได้ โดยในอ้อยคั้นน้ำจะมีเปอร์เซ็นต์หีบสูง น้ำอ้อยมีสีสวย และมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ทั้งการทำอ้อยงบ อ้อยวง อ้อยหลอด อ้อยกะทิ อ้อยผง อ้อยปี๊บ อ้อยกระแทก เป็นการเพิ่มมูลค่าของอ้อยได้อีกด้วย
วันที่รับรอง : 12 กรกฎาคม 2565 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0