พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสม สุราษฎร์ธานี 9
ประวัติ
ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 9 หรือ คู่ผสมหมายเลข 303 ได้จากการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แม่ 68/374D กลุ่ม Deli Dura กับ สายพันธุ์พ่อ 125/154T กลุ่ม AVROS ทำการปลูกทดสอบคู่ผสมหมายเลข 303 ที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ระหว่างปี 2548-2558ร่วมกับคู่ผสมอื่นๆ โดยมีพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ (standard cross) วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำจำนวน 6 กรรมวิธี โดยมีพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ บันทึกข้อมูลผลผลิตทะลายสด องค์ประกอบผลผลิต องค์ประกอบ ทะลาย การเจริญเติบโต ตามแบบแผนงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันผลการทดสอบคู่ผสม พบว่า ลูกผสม สุราษฎร์ธานี 9 มีลักษณะดีเด่นตามมาตรฐานการคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมเทเนอราของกรมวิชาการเกษตร จากนั้น ทำการคัดเลือกต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นรายต้นจากประชากรของแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกต้นพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 9 ต่อไป
ลักษณะประจำพันธุ์
ทางใบมีสีเขียวเข้ม มีความยาวปานกลาง ก้านทะลายสั้น ทะลายเป็นทรงกลมปลายแหลม มีหนามสั้น ความหนาแน่น-หนามช่อทะลายย่อยน้อย ลักษณะผลเป็นรูปทรงผลกลม ยาว ขนาดผลใหญ่ เปลือกผลหนา กะลา (กะลาต่อผล) เป็นแบบบาง เนื้อใน (เนื้อในต่อผล) เป็นแบบเนื้อในบาง ผลดิบมีสีดำและผลสุกมีสีแดง (Nigrescens) ทรงต้นสูงปานกลาง
ลักษณะเด่น
1. ผลผลิตทะลายสดสูง ให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย 3.77 ตันต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 ซึ่งให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย 2.87 ตันต่อไร่ต่อปี คิดเป็น 31.0 เปอร์เซ็นต์ หรือ ให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย (อายุ 3-5 ปี) 3.2 ตันต่อไร่ต่อปีและให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย (อายุ 6-10 ปี) 4.6 ตันต่อไร่ต่อปี
2. เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลายสูง มีน้ำมันต่อทะลาย 25.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเทียบเท่าอัตราการสกัดจากโรงงาน (Oil extraction rate : OER) 21.7 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นผลผลิตน้ำมันดิบ 818.5 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีสูงกว่าพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 23.8 เปอร์เซ็นต์
3. ลักษณะผลมีเปลือกนอกหนาและกะลาบาง สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานและใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 โดยมีเปลือกนอกสดต่อผล 87.5 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์) และมีกะลาต่อผล 6.2 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์)
พื้นที่แนะนำ
ควรปลูกในพื้นที่เหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมัน โดยพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีความเหมาะสม หมายถึง พื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,800 มิลลิเมตรต่อปี มีช่วงแล้งติดต่อกันไม่เกิน 2 เดือน หรือมีสภาพการขาดน้ำ (Water deficit) ประมาณ 100-200 มิลลิเมตรต่อปี และเป็นดินที่มีการระบายน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ดี สามารถให้ผลผลิตทะลายปาล์มสดมากกว่า
3 ตันต่อไร่ต่อปี
ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด
เนื่องจากการผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันเป็นลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) จึงไม่ควรนำเมล็ดที่ได้ไปขยายพันธุ์ต่อ เพราะจะทำให้ได้ปาล์มน้ำมันที่มีการกระจายตัว เช่น ได้ปาล์มน้ำมันที่มีลักษณะกะลาหนาหรือทะลายฝ่อ ทำให้ผลผลิตต่ำ น้ำมันน้อย
คำแนะนำเพิ่มเติม
1. ควรปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูก 9x9x9 เมตร โดยแถวหลักเป็นฐานอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้
2. การจัดการสวนปาล์มน้ำมันให้ปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (GAP) ปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตร
วันที่รับรอง : 19 มีนาคม 2561 ประเภทพันธุ์แนะนำ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
* * * * *
ข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ พันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ ปี 2561-2565
โดย : กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Was this helpful?
1 / 0