กัญชา : การปลูกกัญชาในระบบเปิด ‘สภาพแปลง’ (Outdoor)

ในการปลูกพืชสกุลกัญชา ผู้ปลูกจำเป็นต้องทราบถึงสภาพแวดล้อมเบื้องต้นที่เหมาะสมในการปลูกกัญชา เพื่อที่จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจในการปลูกกัญชา และสามารถผลิตพืชสกุลกัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปลูกกัญชาในระบบเปิด ‘สภาพแปลง’ (Outdoor)

ในการปลูกพืชสกุลกัญชา ผู้ปลูกจำเป็นต้องทราบถึงสภาพแวดล้อมเบื้องต้นที่เหมาะสมในการปลูกกัญชา เพื่อที่จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจในการปลูกกัญชา และสามารถผลิตพืชสกุลกัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ส่งผลให้ได้ผลผลิตสูง ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยการผลิตต่ำ ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชสกุลกัญชา มีดังนี้

สภาพภูมิอากาศ

ปริมาณน้ำฝน
พืชสกุลกัญชาต้องการความชื้นมากที่สุดในช่วง 6 สัปดาห์แรก เนื่องจากเป็นช่วงที่เมล็ดกำลังงอก และเมื่อหลังจาก 6 สัปดาห์หลังจากการงอกจากเมล็ดพืชสกุลกัญชาสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ เนื่องจากต้นพืชสกุลกัญชามีรากที่สามารถหยั่งลึกลงในดิน 2-3 เมตร ทำให้สามารถหาความชื้นที่สะสมอยู่บริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตามการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งรุนแรง ส่งผลให้การเจริญเติบโตลดลงและแคระแกรน โดยทั่วไปพืชสกุลกัญชาต้องการปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 500-600 มิลลิเมตรต่อวงจรชีวิต โดยต้องการปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 250-350 มิลิเมตร ในช่วงระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น ซึ่งความต้องการน้ำของพืชสกุลกัชามีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์พืชสกุลกัญชา ดิน สภาพอากาศ และการจัดการภายในแปลง

ความสั้น-ยาวของวัน
พืชสกุลกัญชาเป็นพืชวันสั้น ความสั้น-ยาวของวันสัมพันธ์กับปริมาณแสงที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งปริมาณแสงที่ต้นพืชสกุลกัญชาได้รับแสงต่อวันมีผลต่อการพัฒนาการระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นไปสู่ระยะออกดอก ดังนั้นการวางแผนการปลูกที่เหมาะสมตามช่วงเวลาสั้น-ยาวของวัน จะทำให้พืชสกุลกัญชาที่ปลูกมีผลผลิตสูง เนื่องจากต้นพืชสกุลกัญชามีช่วงเวลาการเจริญเติบโตทางลำต้นที่ยาวนานเพียงพอ ทำให้สามารถผลิตช่อดอกหรือผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

อุณหภูมิ
อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตในแต่ละระยะของพืชสกุลกัญชา ซึ่งพืชสกุลกัญชาสามารถปรับตัวเจริญเติบโตได้ดีตั้งแต่อุณหภูมิ 19-28 องศาเซลเซียส ซึ่งมีการศึกษาการปลูกพืชสกุลกัญชาเพื่อเส้นใยในเขตเมติเตอร์เรเนียน พบว่า อุณหภูมิสะสม (Growing degree day; GDD) ที่เหมาะสมกับการปลูกกัญชาเพื่อเส้นใยอยู่ระหว่าง 1,900-2,000 องศาเซลเซียล และอุณหภูมิสะสมสำหรับการปลูกเพื่อเมล็ด (Grain) อยู่ระหว่าง 2,700-3,000 องศาเซลเซียส (Adesina et al., 2020)

ที่ตั้งและคุณสมบัติดิน

ที่ตั้ง
ที่ตั้งของประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 5 องศา ถึง 20 องศา ซึ่งความแตกต่างของตำแหน่งละติจูด ส่งผลต่อปริมาณแสงอาทิตย์ที่ได้รับในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกัน ซึ่งที่ตั้งละติจูดที่สูงจะมีความแตกต่างของชั่วโมงแสงที่ได้รับในแต่ละฤดูกาลมากกว่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในละติจูดที่ต่ำกว่า การปลูกพืชสกุลกัญชาปริมาณช่วงแสงที่ได้รับในแต่ละเดือนจะส่งผลต่อการวางแผนในการผลิต เนื่องจากพืชสกุลกัญชาเป็นพืชวันสั้น หากมีการปลูกในช่วงที่มีปริมาณแสงต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันย่อมส่งผลให้พืชสกุลกัญชามีระยะเวลาในการสร้างการเจริญเติบโตของลำต้นไม่เพียงพอ ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งจากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า จังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่ในละติจูดที่ 18 องศา ซึ่งอยู่ในละติจูดที่สูงกว่ายะลา (ตั้งอยู่ในละติจูดที่ 6 องศา) มีความแตกต่างของจำนวนชั่วโมงแสงที่ได้รับในแต่ละฤดูกาลสูงกว่าจังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ในละติจูดที่ต่ำกว่า ดังนั้นสภาพที่ตั้งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการวางแผนการผลิต

ภาพที่ 1 แสดงปริมาณชั่วโมงของแสงที่ได้รับในช่วงเวลากลางวันของจังหวัดเชียงใหม่, พิษณุโลก, ขอนแก่น, กรุงเทพฯ, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ภูเก็ต, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ยะลา, และนาราธิวาส

ความลาดชัน
ความลาดชันเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในการจัดการแปลงและการเก็บเกี่ยว โดยพื้นที่ที่มีความลาดชันมากกว่า 35% ไม่ควรปลูกพืชสกุลกัญชา เนื่องจากจะทำให้มีปัญหาในการเก็บเกี่ยว และความลาดชันในอุดมคติที่เหมาะสมกับการปลูกพืชสกุลกัญชา คือ ความลาดชันที่ 5% เนื่องจากหากมีความลาดชันเกิน 5% จะทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินในช่วงฤดูฝน

คุณสมบัติดิน
พืชสกุลกัญชาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีโครงสร้างร่วนซุย (Loose) ระบายน้ำได้ดี และมีอินทรีย์วัตถุสูง ซึ่งสภาพดินที่เหมาะสมควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.8-6 และเนื้อดินที่เหมาะสมในการปลูกกัญชา คือ เนื้อดินร่วนปนทราย (Sandy loam) แต่เนื้อดินที่ควรหลียเลี่ยง คือ ดินเหนียวจัด (Heavy clay) เนื่องจากมีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี และดินทราย (Sandy Soil) มีข้อจำกัดเรื่องของการอุ้มน้ำพื้นที่ปลูกพืชสกุลกัญชา สภาพดินไม่ควรมีชั้นดานภายในแปลง นอกจากจะทำให้รากของพืชสกุลกัญชาเมื่อเจริญไปถึงชั้นดาน รากจะมีลักษณะเป็นรูป L ทำให้ประสิทธิภาพการดูดใช้น้ำ และธาตุอาหารลดลง นอกจากนี้ชั้นดานส่งผลให้เกิดการระบายน้ำไม่ดี เกิดสภาพน้ำขังใต้ผิวดิน (Water logging) ทำให้ต้นพืชสกุลกัญชาภายในแปลงเกิดรากเน่า โดยเฉพาะในช่วงระยะต้นกล้า

—————–

ตารางที่ 2 แสดงระดับความต้องการปัจจัยของพืชสกุลกัญชา (Crop requirement of Cannabis)

หมายเหตุ :  ความสั้น-ยาวของวัน : เข้าสู่ระยะออกดอก เมื่อความยาวแสงต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ช่วงเวลาในการเจริญเติบโต : 150-180 วัน, ช่วงวิกฤต(ความชื่น) : ระยะ Vgegtative growth เนื้อดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช sl  fsl, อื่นๆ – อ่อนแอต่อความชื้นในดินที่มากเกินไป และสภาพน้ำขังใต้ผิวดิน (Water logging)

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน (ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เมษายน 2564) เพื่อพัฒนาแผนที่ความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชสกุลกัญชาในสภาพแปลงปลูกกลางแจ้งของประเทศไทย แยกตามระดังความเหมาะสม สามารถจำแนกได้ดังนี้

  1. ความเหมาะสมสูง (S1) จำนวน 6,273,298 ไร่
  2. ความเหมาะสมปานหลาง (S2) จำนวน 33,173,383 ไร่
  3. มีความเหมาะสมเล็กน้อย (S3) จำนวน 28,989,620 ไร่
  4. ไม่เหมาะสม (N) จำนวน 133,484,303 ไร่

(ภาพที่ 2, 3, 4, 5, 6, และ 7) รายละเอียดสามารถสืบค้นได้ที่ https://fc.doa.go.th/hemp

การเตรียมดิน และการปลูกกัญชา

การเตรียมดิน

การเตรียมดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผิวดินอ่อนตัว และให้ดินมีอากาศถ่ายเทสะดวก พร้อมทั้งเป็นการทำลายเหง้าวัชพืชให้แห้งตายหรือฝังกลบซากวัชพืชเดิม การไถพรวนควรไถอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการไถดะให้ลึกด้วยผาน 3 หรือผาน 4 โดยให้มีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร และตากดินทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน เพื่อทำลายวัชพืชและศัตรูพืชในดินบางชนิด ครั้งที่สอง เป็นการไถแปรเพื่อให้ดินแตกละเอียด ด้วยผาน 7 โดยไถขวางรอยเดิมของไถดะ เพื่อย่อยดินก้อนใหญ่ นอกจากนี้สามารถทำร่องระลายน้ำความสูง 50 เซนติเมตร และแต่ละแถวมีระยะห่างกัน 100 เซนติเมตร เพื่อการระบายน้ำที่ดีขึ้นด้วย

การปลูกกัญชา

*** เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่ยังไม่ทราบวิธีเพาะกล้ากัญชา สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ 1. การเพาะกัญชาด้วยเมล็ด และ 2. การเพาะกัญชาด้วยการตัดชำ

วิะีการปลูกกัญชาระบบเปิด หรือสภาพแปลง (Outdoor) ปลูกโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่สามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางคือ

1.) วิธีการหว่าน การปลูกกัญชาในลักษณะนี้โดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตเส้นใย (Fiber) ซึ่งในประเทศไทยจะนิยมปลูกเพื่อการผลิตเส้นใจในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนของแต่ละภูมิภาค โดยมีอัตราการใช้เมล็ดสำหรับการปลูกเพื่อเส้นใย 10 กิโลกรัมต่อไร่ (ปปส. มปป.)

2.) วิธีการหยอดหลุมด้วยเมล็ดและต้นกล้า (แบบประณีต) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ด (Grain) และช่อดอก (CBD) โดยทั่วไปจะนิยมปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ในช่วงเดือนกรกฏมคม ถึงเดือนมกราคม และมีอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกจำนวน 2 กิโลกรัมต่อไร่ (ปปส. มปป.) ส่วนการปลูกเพื่อผลิตช่อดอก (CBD) ในสภาพแปลงปลูก Outdoor ไม่เคยมีรายงานมาก่อน อย่างไรก็ตามมีรายงานจากต่างประเทศที่สามารถสรุปแนวทางการปลูกแบบปราณีตได้คือ

  • เมล็ดพันธุ์กัญชา/ต้นกล้ากัญชา ควรมีการเพาะต้นกล้าให้มีอายุ 2-3 สัปดาห์ก่อนที่จะย้ายปลูกในแปลง ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้สำหรับการปลูกเพื่อการผลิตเมล็ดควรเป็นเมล็ดที่มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้สำหรับการผลิตช่อดอก (CBD) ควรเป็นเมล็ดแบบที่มีเฉพาะต้นตัวเมีย หรือใช้ต้นกล้าจากการตัดชำ (Cutting) ที่สามารถกำหนดเพศของต้นกล้ากัญชาที่จะปลูกได้ตามต้องการ สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ 1. การเพาะกัญชาด้วยเมล็ด และ 2. การเพาะกัญชาด้วยการตัดชำ
  • ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ ระยะปลูกระหว่างแถว 100 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างต้น 30-60 เซนติเมตร (Garcia-Tejero et al., 2019) ซึ่งจะได้จำนวนต้นกัญชา เท่ากับ 2,666-5,333 ต้นต่อไร่
  • การปลูก กรณีปลูกด้วยเมล็ดควรหยอดหลุมละ 3-5 เมล็ด โดยให้มีความชึกไม่เกิน 1-2 เซนติเมตร ส่วนการปลูกด้วยต้นกล้าควรใช้ต้นกล้าอายุไม่เกิน 4 สัปดาห์ และมีการกระตุ้นต้นกล้าให้แข็งแรงก่อนย้ายปลูก (Hardening) เช่น การงดน้ำก่อนย้ายปลูก 1 วัน

การใส่ปุ๋ยกัญชา

การใส่ปุ๋ยเคมีควรแบ่งใส่ 3 ครั้ง ตามระยะการเจริญเติบโตของต้นพืชสกุลกัญชาเพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตได้เต็มที่ (Gracia-Tejero et al., 2019)

ตารางที่ 3 การใส่ปุ๋ยพืชสกุลกัญชา

 

*** เพิ่มเติม : พืชสกุลกัญชา เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั้งในระบบเปิดหรือสภาพแปลง (Outdoor cultivation), โรงเรือน (Semi-indoor cultivation), และระบบปิด (Indoor cultivation) ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการปลูก ได้แก่ การปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใจ (Fiber), เมล็ด (Grain), และสารสำคัญ (Cannabinoids)

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร (คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรม)

Was this helpful?

1 / 0

error: Content is protected !!